โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ


ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ริเริ่ม โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ


                 

         


     ศาสตรจารย์ นพ. ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ   กล่าวว่า  โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้เริ่มทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายแรกเมื่อเดือน ธันวาคม 2538 และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งพันรายที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และเมื่อปี 2538 ได้มีการพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะตับ โดยผ่าตัดปลูกถ่ายตับเป็นรายแรก จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ มากกว่าสองร้อยราย  ผลการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและตับในโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ได้มาตรฐานระดับสากล ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถกลับไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป  

 

   รองศาสตรจารย์ นพ. ภัทรพงษ์ มกรเวส   ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชำนาญ และ ความพร้อมในด้านบุคคลากรทางการแพทย์ เกี่ยวกับ การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวด้วยการรักษาด้วยยาตามมาตรฐาน  การผ่าตัดใส่เครื่องด้วยกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจและเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ร่วมกับการผ่าตัดรักษาลิ้นหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการดีขึ้น แต่ด้วยการรักษาที่มีปัจจุบันยังมีผู้ป่วยบางส่วนยังมีภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ ดังนั้น การผ่าตัดผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ จึงเป็นการรักษาอีกหนึ่งทางเลือกที่จะมาช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอัตรการรอดชีวิตสูงขึ้น

 

 


     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. ไชยสิทธิ์ วงศ์วิภาพร ประธานอนุกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายหัวใจ ได้กล่าวว่าขณะนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อยู่เป็นจำนวนมาก  ผู้ป่วยเหล่านี้มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายหัวใจเท่านั้นจึงจะมีชีวิตอยู่รอด และในอดีตที่ผ่านมาผู้ป่วยเหล่านี้ต้องถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในส่วนกลางที่สามารถทำการปลูกถ่ายหัวใจ  ผู้ป่วยยากไร้ที่ไม่สามารถเดินทางไปรับการรักษาจึงต้องเสียชีวิต อย่างน่าเสียดาย นับเป็นการสูญเสียโอกาสของผู้ป่วยอย่างยิ่ง
 
  

                                           

 

 


     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. ชวลิต วงศ์พุทธะ หัวหน้าอนุสาขาวิชาศัลยกรรมหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก  กล่าวว่า ขณะนี้ทีมศัลยแพทย์และพยาบาลห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีความพร้อมในการเดินทางไปผ่าตัดนำหัวใจออกจากผู้บริจาคอวัยวะสมองตายในโรงพยาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อมีผู้บริจาคอวัยวะสมองตายทีมผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์สามารถนำอวัยวะไตและตับเท่านั้น เพื่อมาปลูกถ่ายให้ผู้ที่รอรับในโรงพยาบาลศรีนครินทร์   ส่วนหัวใจต้องรอทีมผ่าตัดจากส่วนกลาง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ต้องสูญเสียหัวใจในกรณีที่ทีมผ่าตัดจากส่วนกลางไม่สามารถเดินทางมาได้ทันท่วงที


 

 


     รองศาสตราจารย์ นพ. วิชัย เส้นทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจล้มเหลวและการปลูกถ่ายหัวใจ เลขานุการโครงการปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวว่า ความสำคัญของการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจนอกจากจะต้องได้ผู้บริจาคหัวใจที่เหมาะสมแล้ว คือการต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีจำกัด ซึ่งผลการผ่าตัดจะดี ระยะเวลาที่นำหัวใจออกจากผู้บริจาคอวัยวะมาใส่ให้ผู้รอรับควรจะอยู่ภายในเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้น และการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดและการติดตามการรักษาเมื่อกลับบ้าน ต้องอาศัยแพทย์ผู้มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งด้วยศักยภาพของทีมโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีความพร้อมในการให้บริการการรักษาดังกล่าว
     

เพื่อเป็นการนำอวัยวะที่ญาติมีความประสงค์บริจาคอวัยวะเพื่อช่วยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้มากที่สุด และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีโอกาสรอดชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ   ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ ริเริ่ม โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจขึ้นโดย คาดการณ์ว่าจะเริ่มรับลงทะเบียนผู้รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้ในปี  พ.ศ. 2566 นี้

แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ/บริจาคเงินสมทบกิจกรรม/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
หน่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ชั้น 5 อาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
043-363158

18 เดือนที่แล้ว
ประชาสัมพันธ์