โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

ภาวะเสียการสื่อความ (Aphasia)


ภาวะเสียการสื่อความ (Aphasia)

บทนำ

          “สวัสดีครับ คุณลุงชื่ออะไรครับ” คุณหมอถามผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยตอบว่า “ผมทานข้าวเช้าแล้วครับ อิ่มด้วย คุณหมอทานข้าวหรือยังครับ” ญาติของผู้ป่วยงงมาก ว่าทำไมผู้ป่วยถึงตอบไม่ตรงคำถามที่หมอถาม และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ญาติพาผู้ป่วยมาพบหมอ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ถามอย่างตอบอย่าง สงสัยจะสมองเสื่อม ภาวะดังกล่าวไม่ใช่สมองเสื่อมครับ แต่เรียกว่า Sensory aphasia (ภาวะเสียการสื่อความชนิดการรับรู้) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความผิดปกติของสมองที่เรียกว่า “ภาวะเสียการสื่อความ(Aphasia)”

          ภาวะเสียการสื่อความคืออะไร เกิดจากอะไร และรักษาได้หรือไม่ ต้องติดตามอ่านบท ความนี้ดูครับ

ภาวะเสียการสื่อความคืออะไร?

          ภาวะเสียการสื่อความ คือ การที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของสมองส่วนการสื่อความ (Wernicke’s area และ Broca’s area) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนที่เรียกว่าพาไรยทอล (Parietal lobe/สมองกลีบด้านข้าง อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบประ สาท) โดยจะเป็นความผิดปกติ/พยาธิสภาพที่เกิดกับ สมองซีกซ้ายกรณีผู้ป่วยถนัดขวา แต่ถ้าผู้ป่วยถนัดซ้าย จะมีความผิดปกติเมื่อมีพยาธิสภาพของสมองซีกขวา

          สมองส่วนดังกล่าวนั้นจะมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับข้อมูลจากการสื่อสาร ด้วยการพูดและประมวลข้อมูลต่างๆ (Wernicke’s area) เมื่อรับและประมวลข้อมูลแล้ว ก็จะแสดงออกโดยการพูดสื่อสารออกมา โดยสมองส่วนการแสดงออก (Broca’s area) ดัง นั้น ถ้าสมองส่วนหนึ่งส่วนใดผิดปกติ หรือทั้งสองส่วนผิดปกติ ก็จะมีความผิดปกติของการสื่อความ

ภาวะเสียการสื่อความมีกี่รูปแบบ? แต่ละรูปแบบมีลักษณะอย่างไร?

ภาวะเสียการสื่อความมี 4 รูปแบบ/ชนิด หลัก คือ

  • ภาวะเสียการสื่อความแบบรับรู้ผิดปกติ (Receptive aphasia หรือ Sensory aphasia หรือ Wernicke’s aphasia)
  • ภาวะเสียการสื่อความแบบแสดงออกผิดปกติ (Motor aphasia หรือ Broca aphasia)
  • ภาวะเสียการสื่อความแบบรับรู้และแบบแสดงออกผิดปกติ (Global aphasia)
  • ภาวะเสียการสื่อความแบบเฉพาะชื่อผิดปกติ (Naming aphasia)

ทั้งนี้ ภาวะเสียการสื่อความแต่ละรูปแบบมีลักษณะดังนี้ คือ

  • ภาวะเสียการสื่อความแบบรับรู้ผิดปกติ (Receptive aphasia หรือ Sensory aphasia หรือ Wernicke’s aphasia) ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยจะฟังคนอื่นๆไม่รู้เรื่องว่าพูดอะไรกัน เพราะสมองส่วนการรับรู้ และประมวลผลผิดปกติ แต่สมองส่วนการพูดแสดงออกมาปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยจะพูดได้คล่อง ไม่ติดขัด พูดได้ต่อเนื่องเป็นเรื่องราว แต่ไม่ตรงกับที่คุยกับคนอื่น เช่น หมอถามว่า “คุณชื่ออะไร” ผู้ป่วยตอบว่า “ทานข้าวแล้ว” หมอบอกให้หลับตา ผู้ป่วยก็จะอยู่เฉย ๆ เพราะไม่ทราบว่าหมอพูดอะไร และจะพูดตามไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจว่าให้พูดอะไร
  • ภาวะเสียการสื่อความแบบแสดงออกผิดปกติ (Motor aphasia หรือ Broca aphasia)ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยจะพูดออกมาลำบาก หรือพูดไม่ได้เลย แต่จะฟังเข้าใจทั้งหมด สามารถแสดงออกโดยการเขียนหรือทำท่าทางได้ เพียงแต่พูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น หมอถามว่า “ชื่ออะไรครับ” ผู้ป่วยจะพูดตอบมาไม่ได้ แต่เขียนชื่อได้ หมอบอกให้ยกมือขึ้น ผู้ป่วยก็ยกมือขึ้นได้ทันที
  • ภาวะเสียการสื่อความแบบรับรู้และแบบแสดงออกผิดปกติ (Global aphasia)ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยจะฟังไม่รู้เรื่องและพูดไม่ได้ ดังนั้น เวลาพูดคุยกันก็จะฟังไม่รู้เรื่อง และแสดงออกไม่ได้ เช่น หมอบอกให้หลับตา ผู้ป่วยก็อาจอยู่เฉยๆ หรือพยายามจะทำอะไรที่ไม่ถูก ต้อง เช่น ยกแขนขึ้น เพราะเดาว่าหมอพูดอะไร ผู้ป่วยจะมองตามเรา แต่สื่อสารกับเราไม่ได้ อาจแสดงออกรู้สึกกระวนกระวาย ไม่ค่อยมีสมาธิ เพราะสื่อสารกับใครก็ไม่ได้
  • ภาวะเสียการสื่อความแบบเฉพาะชื่อผิดปกติ (Naming aphasia) ลักษณะสำคัญคือ การเรียกชื่อไม่ถูกต้อง เช่น หมอยกปากกาให้ดู ถามว่าเรียกว่าอะไร ผู้ป่วยจะเรียกไม่ถูกว่า ปาก กา เพราะนึกคำว่าปากกาไม่ออก แต่ทราบว่าปากกานั้นเอาไว้เขียน ผู้ป่วยจะพูดตามเราได้ปกติ ซึ่งภาวะเสียการสื่อความทั้ง 3 แบบข้างต้น ผู้ป่วยจะพูดตามเราไม่ได้

ผู้ป่วยมีอาการแสดงผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่?

          อาการแสดงผิดปกติอื่นๆของผู้ป่วย ที่อาจพบร่วมกับการเสียการสื่อความ เช่น ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติทาง การอ่าน การเขียน การมองเห็น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท และอาจพบแขนขาอ่อนแรง (อัมพาต) ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายซีกเดียว อาจซ้ายหรือขวา ขึ้นกับพยาธิสภาพของโรคที่สมอง ร่วมกับมีความผิดปกติของอารมณ์ เช่น วอกแวก อารมณ์แปรปรวนง่าย และ ซึมเศร้า

ผู้ป่วยรู้ตัวไหมว่ามีอาการเสียการสื่อความ?

          กรณีที่เป็นภาวะเสียการสื่อความแบบการรับรู้ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ในช่วงแรก ๆ เพราะผู้ป่วยจะพูด จะเขียน ทำอะไรได้ปกติ แต่จะสื่อสารกับผู้อื่น ฟังข่าวสารไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามีแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองผิดปกติ แต่ถ้าเป็นเสียการสื่อความแบบอื่นๆ ผู้ ป่วยจะทราบว่าตนเองผิดปกติแน่นอน

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

         ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ ญาติหรือผู้ดูแลก็ต้องสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้าสงสัยต้องรีบพามาพบแพทย์ทันที

สาเหตุภาวะเสียการสื่อความเกิดจากอะไร?

ภาวะเสียการสื่อความ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยๆ คือ

  • โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต โดยเฉพาะชนิดสมองขาดเลือด (Cerebral infarction)
  • โรคเนื้องอกสมอง (Brain tumor)
  • อุบัติเหตุต่อศีรษะ (Head injury)
  • โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
  • ภาวะติดเชื้อในสมอง เช่น ฝีในสมอง (Brain abscess)

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเสียการสื่อความชนิดใดและเกิดจากอะไร?

          แพทย์จะทราบได้ โดยการวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย โดยการทดสอบความเข้าใจในการสื่อสาร การพูด การแสดงออกต่างๆ ก็จะบอกได้ว่าเป็นภาวะเสียการสื่อความแบบไหน ต่อ จากนั้นก็จะพิจารณาถึงสาเหตุ โดยดูจากประวัติการผิดปกติว่า เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว หรือค่อยเป็นค่อยไป มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมอีกหรือไม่ มีโรคประจำตัวอะไร ต่อจากนั้นก็ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือแม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ) สมอง เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

ภาวะเสียการสื่อความรักษาอย่างไร? หายหรือไม่?

การรักษาภาวะนี้ ประกอบด้วย 2 วิธี คือ

          รักษาสาเหตุของภาวะเสียการสื่อความ เช่น การผ่าตัดเมื่อสาเหตุเกิดจากเนื้องอกสมอง หรือ การให้ยาต้านเกล็ดเลือดเมื่อสาเหตุเกิดจากสมองขาดเลือด เป็นต้น

  • การรักษาด้วยการฝึกพูดและสื่อความหมาย โดยนักฝึกพูดและสื่อความหมาย (อ่านเพิ่มเติมในบทความของ อจ.เบญจมาศ พระธานี เรื่อง ความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาในผู้ป่วยสมองพิการ)

          ทั้งนี้ กรณีภาวะเสียการสื่อความหมาย เป็นแบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะค่อยๆดีขึ้น และหายเป็นปกติ

          ถ้าความผิดปกติเป็นแบบ ภาวะเสียการสื่อความแบบรับรู้และแบบแสดงออกผิดปกติ (Global aphasia) มักจะหายเป็นปกติยากมาก

         ถ้าเป็นผิดปกติเฉพาะการพูดหรือการเรียกชื่อ จะเริ่มเห็นว่าอาการดีขึ้นชัดเจนประมาณ 3-6 เดือน แต่กรณีอื่นๆ ใช้เวลานานมากกว่า 1 ปี

          อย่างไรก็ตาม นอกจากชนิด/รูปแบบของภาวะเสียการสื่อความหมาย การพยากรณ์โรค ยังขึ้นกับความรุนแรงของอาการสาเหตุของโรค ขนาดของรอยโรคในสมอง โรคร่วมต่างๆ และที่สำคัญอีกประการ คือ การฝึกฝนตามนักฝึกพูดและสื่อความหมาย อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มีกำลังใจ ไม่ย่อท้อ และการร่วมดูแลจากครอบครัว

จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องนานหรือไม่?

          ภาวะเสียการสื่อความนี้ จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคที่เป็นสาเหตุ และทั้งการฝึกฝน ด้านการพูด การสื่อสาร ที่สำคัญคือ ต้องฝึกฝนสม่ำเสมอทุกๆวันเป็นประจำ ต่อ เนื่อง ตลอดไป (อ่านเพิ่มเติมในบทความ เรื่อง ความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาในผู้ ป่วยสมองพิการ)

ญาติมีบทบาทอย่างไรบ้างในการรักษา?

          ญาติมีความสำคัญมากในการรักษาภาวะเสียการสื่อความ เพราะต้องพยายามช่วยผู้ป่วยในการฝึกฝนการพูด การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง และต้องคอยสังเกตว่า ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเพิ่มขึ้น เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน อาการทรุดลงต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

ผู้ป่วยเป็นอัมพาตร่วมด้วยได้ไหม?

         การจะมีอัมพาตร่วมด้วยได้หรือไม่ ขึ้นกับสาเหตุ กรณีมีสาเหตุจากสมองขาดเลือดก็มีโอ กาสเป็นอัมพาตได้สูง และถ้าเป็นจากสาเหตุอื่นๆ และไม่ได้รับการรักษาที่ดี ก็มีโอกาสเป็นอัม พาตได้เช่นกัน

ภาวะเสียการสื่อความเกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อมหรือไม่?

          ภาวะเสียการสื่อความนี้ คนจะเข้าใจว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อม แต่จริงๆแล้ว 2 ภาวะนี้เป็นคนละส่วนกัน แต่ในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่รุนแรงก็จะเกิดภาวะเสียการสื่อความได้ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะเสียการสื่อความ ก็อาจมีอาการของสมองเสื่อมได้ ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง

ภาวะเสียการสื่อความก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

          ภาวะเสียการสื่อความนั้น ส่งผลข้างเคียง (ภาวะแทรกซ้อน) มากมาย เช่น อาการอัมพาต ความซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย เสียระดับความรู้สึกตัว และเสียโอกาสของการเรียนรู้ รวมทั้งอาจมีอาการชักร่วมด้วยได้

ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อจะสื่อสารกับผู้อื่น ควรทำอย่างไร?

          เมื่อเกิดภาวะเสียการสื่อความ การดูแลตนเอง คือ ควรต้องรักษา ควบคุมสาเหตุ โรคร่วมต่างๆที่เป็นอยู่ ขยันฝึกฝนแบบทักษะต่างๆ ที่ทีมรักษาได้ฝึกให้อย่างต่อเนื่องที่บ้าน ทำทุกวัน ต้องปรับสภาพจิตใจ ยอมรับในสิ่งที่เป็น และมีความหวังว่า เราจะดีขึ้น ซึ่งญาติ/ครอบครัวเป็นคนสำคัญมากในการดูแลฝึกฝน ให้กำลังใจกับผู้ป่วย

          อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้โดย การแสดงท่าทาง เขียน พิมพ์ข้อความ ในกรณีพูดไม่ได้ เรียกชื่อไม่ถูก แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นชนิดฟังไม่เข้าใจ การสื่อสารกับผู้อื่นทำได้ยากมาก ผู้ดู แล/ครอบครัวต้องพยายามเรียนรู้จากผู้ป่วยว่า ต้องการสื่อสารอะไร และต้องฝึกให้ผู้ป่วยรู้จักการสื่อสาร

         อีกประการ ผู้ป่วยควรมีบัตรติดตัวเป็นประจำ โดยระบุ ชื่อ สกุล ป่วยเป็นโรคอะไร รักษาอยู่โรงพยาบาลใด และจะติดต่อกับญาติ/ครอบครัวได้อย่างไร เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วย กรณีเกิดปัญหาต่างๆและไม่มีญาติอยู่ด้วย

สรุป

         ดังนั้น เมื่อท่านทราบแล้วว่าภาวะเสียการสื่อความคืออะไร ลองสังเกตคนรอบข้างเราว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวหรือไม่ ถ้าพบควรรีบแนะนำให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีครับ

ที่มา: ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

27 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ