โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

หาว การหาว (Yawn)


หาว การหาว (Yawn)

บทนำ

         “หาว หาว หาว” วันนี้ทำไมเราจึงหาวบ่อยๆ การประชุมน่าเบื่อจังเลย หรือ “...หาว หาว หาว…” ง่วงนอนจังเลย นอนดีกว่า หลายคนคงสงสัยว่าหาวคืออะไร แล้วทำไมต้องหาว หาวบ่อยๆ เป็นโรคหรือไม่ ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ

หาวคืออะไร?

         หาว คือการที่มนุษย์หรือสัตว์ค่อยๆอ้าปากใช้เวลานานมากกว่า 3 วินาที และหุบปากอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาเฉลี่ยในการหาวแต่ละครั้งประมาณ 6 วินาที การหาวนั้นพบได้ทั้งในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในคนพบตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ จนกระทั้งก่อนเสียชีวิต

หาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?

          การหาวมีกลไกการเกิดซับซ้อน โดยมีสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) และฮอร์ โมนที่เกี่ยวข้องหลายชนิด เช่น โดปามีน (Dopamine), กลูตาเมท (Glutamate), อะซีตีลโคลีน (Acetylcholine), เอซีทีเอช (ACTH), และออกซีโตซินเป็บไทด์ (Oxytocin peptide) ส่ง ผลต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ผ่านไปที่สมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippo campus) , พอนด์ (Pons), และเมดดูล่าออบลองกาตา (Medulla oblongata) ทำให้เกิดการหาวขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท)

ทำไมจึงหาว?

          การหาวในคน ยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน แต่มี 2 ความเชื่อ ซึ่งเกิดจากการสัง เกต คือ การหาวเพราะสภาพทางร่างกาย และการหาวเพราะสภาพทางจิตใจ

  • การหาวเพราะสภาพทางร่างกาย จากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง มีหลายเหตุผลและสมมุติฐาน เช่น หาวเพราะง่วงนอน เห็นได้จากก่อนที่เราจะนอน ก็จะรู้สึกง่วง ความตื่นตัวลดลง เราก็จะหาวติดต่อกันแล้วก็ง่วงมากขึ้น ต่อด้วยนอนหลับ หรือช่วงหลังตื่นนอนทันทียังสะลึมสะ ลือ ก็หาวหลังจากนั้น ก็สดชื่นขึ้น จึงมีประเด็นว่า การหาว อาจเกิดเพราะก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์สูงขึ้น และออกซิเจนลดต่ำลงในช่วงที่เพิ่งตื่นนอน, หรือหาวเพราะต้องการสร้างความสดชื่นก็ได้ เพราะบางคนหาวแล้วรู้สึกสดชื่นขึ้นเพราะร่างกายอาจได้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงของก๊าซออกซิเจน และ/หรือคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดในการหาวแต่อย่างใด

          นอกจากนี้ยังสังเกตพบว่า ถ้าเรานำผ้าชุบน้ำเย็นมาวางที่หน้าผาก (ทำให้อุณหภูมิลดลง) คนเราจะสดชื่นขึ้น แต่ถ้าเอาผ้าแช่น้ำอุ่นวางที่หน้าผาก (ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น) คนเราจะหาวได้ จึงเชื่อว่า การหาวคือ ต้องการลดอุณหภูมิของสมอง และบางครั้งเมื่อเราหูอื้อ ก็มีการหาวเพื่อลดอาการหูอื้อได้ เพราะการหาวช่วยร่างกายปรับความดันในช่องหูชั้นกลางได้

  • การหาวเพราะสภาพทางจิตใจ คือ หมายถึงการเบื่อ เป็นภาษาทางกายสากล ไม่ว่าคนเชื้อชาติไหน ถ้าหาวก็บ่งถึงว่ามีอาการเบื่อหน่าย บางครั้งการหาวจากคนหนึ่งก็อาจส่งผลให้คนอื่นๆที่อยู่รวมกันมีอาการหาวได้ ดังนั้น การหาวก็เป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางสังคมอย่างหนึ่ง

ทำไมถ้าคนหนึ่งหาว คนอื่นๆมักหาวตาม?

          การที่คนหนึ่งหาวและอีกหลายๆคนหาวตามนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่มีการเริ่ม ทำอะไรอย่างหนึ่ง และจะมีคนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆทำตาม โดยเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากละครตลกที่ดูในทีวี จะมีการใส่เสียงหัวเราะเข้าไปในละคร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนดูเกิดการคล้อยตามว่าละครสนุกจริงๆ

การหาวบ่อยๆเป็นโรคหรือไม่? เมื่อใดควรพบแพทย์?

          ความเข้าใจทางการแพทย์ ในปัจจุบันดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อจำกัดว่าจริงแล้ว เราหาวเพราะอะไร อย่างไรก็ตามเราพบว่า การหาวบ่อยๆ อาจพบได้ในกรณีดังต่อไปนี้

  • นอนไม่พอ ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าไม่สดชื่น ต้องหาวบ่อยๆ จึงดีขึ้น
  • นอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่พอ ง่วงตลอดเวลา ก็หาวบ่อยๆ
  • ทานอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล ทำให้ง่วงซึม เฉื่อยชา เนื่องจากมีสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) สูงขึ้น
  • โรค/ภาวะนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ทำให้เหมือนคนนอนไม่พอ
  • ภาวะซีด
  • ซึมเศร้า
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

          ดังนั้น ถ้าท่านหาวบ่อยๆ และสงสัยว่าตนเองอาจมีความผิดปกติในข้อ 4,5,6,และ 7 (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง อาการของแต่ละโรค/ภาวะ ได้ในแต่ละบทความของโรค/ภาวะเหล่านี้) เช่น กรณีที่ท่านรู้สึกว่าร่างกายไม่สดชื่น ง่วงนอนตลอดเวลา ปวดศีรษะหลังตื่นนอน ก็ควรพบแพทย์ และเมื่อมีอาการหาวบ่อยๆ ควรพยายามหาสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก บรรยากาศสดชื่น ไม่เคร่งเครียด ดื่มน้ำสะอาด และหายใจเข้าออกลึกๆ ให้รู้สึกสบาย สดชื่น หาเวลาพักผ่อนให้พอ และออกกำลังกาย ก็มักแก้ไขได้

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุว่าหาวผิดปกติได้อย่างไร?

         กรณีโดยทั่วไปแล้ว การหาวไม่ได้เป็นโรค เป็นเพียงพฤติกรรมการแสดงออกอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่กรณีที่แพทย์สงสัยว่าการหาวนั้นจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพ ก็จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยจาก ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ และการตรวจร่างกายว่า น่าจะมีสาเหตุจากโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆข้างต้นหรือไม่ และถ้าสงสัยเป็นปัญหาด้านการนอนผิดปกติ ปัจจุบันก็จะมีเครื่องมือคัดกรองการนอนผิดปกติแบบพกพา ให้ผู้ป่วยนำมาตรวจการนอนที่บ้าน แต่ถ้าไม่พบความผิดปกติ และสงสัยว่าจะมีอาการเกี่ยวข้องกับการนอนแน่ๆ ก็จะให้ผู้ป่วยนอนโรง พยาบาล และทำการตรวจหาปัญหาจากการนอนอีกครั้ง

แพทย์รักษาอาการหาวได้อย่างไร?

         กรณีการหาวที่ไม่เป็นโรคนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวตามคำ แนะนำข้างต้นก็เพียงพอ แต่ถ้าเกิดจากโรค/ภาวะใดๆ ก็ให้การรักษาโรค/ภาวะผิดปกติที่ต้นเหตุนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นความผิดปกติด้านการนอน ก็ต้องให้การรักษาตามสาเหตุการเกิดความผิดปกตินั้นๆ เช่น การหยุดการหายใจระหว่างนอน ก็ต้องใช้เครื่องอัดอากาศหายใจระหว่างนอน, ถ้าเกิดจากการนอนกรนเพราะโรคภูมิแพ้ ก็ต้องรักษาอาการภูมิแพ้ เป็นต้น

อาการหาวที่ผิดปกติรักษาหายไหม?

         ปัจจุบันการรักษาควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุให้หาวมาก หาวบ่อยผิดปกติ ได้ผลดี สามารถรักษาหายได้ จึงเป็นการรักษาอาการหาวบ่อยให้หายตามไปด้วย

การหาวมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนไหม?

         การหาวไม่มีข้อเสีย โอกาสการเกิดขากรรไกรค้างเป็นไปได้น้อยมากๆ ยกเว้นผู้ที่มีปัญ หาข้อต่อขากรรไกรอยู่ก่อนแล้ว แต่บางครั้ง อาจเป็นปัญหาทางสังคมได้

ถ้าหาวมากๆจะดูแลตนเองอย่างไร?

         ถ้ามีอาการหาวมากๆ ควรทบทวนว่าตนเองมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น อา การง่วงนอนตลอดเวลาถึงแม้จะนอนมากแล้ว อ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ค่อยออก ปวดศีรษะช่วงหลังตื่นนอน อ้วนมากขึ้น ขี้หนาว ท้องผูกมาก ซึมเศร้า เป็นต้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ร่วมกับการพยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี บรรยากาศสดชื่น ไม่เคร่งเครียด ดื่มน้ำสะอาด และหายใจเข้าออกลึกๆ ให้รู้สึกสบาย สดชื่น หาเวลาพักผ่อนให้พอ และออกกำลังกายสม่ำ เสมอ ก็มักช่วยให้หาวลดลงได้

ป้องกันการหาวได้ไหม?

          ปัจจุบัน การป้องกันการหาวให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน แต่โดยทั่วไป ที่พอป้องกันการหาวได้ คือ ต้องทำตัวให้สดชื่น ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนอับชื่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ และพักผ่อนให้เพียงพอ

สรุป

          การหาว น่าจะเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เรา ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ และอาจไม่ได้สื่อถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีอาการหาวมากๆ และติดต่อ กัน ร่วมกับมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ เฉื่อยชาลง ก็ควรต้องพบแพทย์ครับ

  • วิกิโรค
  • วิกิยา
  • สุขภาพเด็ก
  • สุขภาพผู้สูงอายุ
  • สุขภาพผู้หญิงและความงาม
  • เกร็ดสุขภาพ
  • สุขภาพทั่วไป
  • เพศศึกษา
  • BLOG

ที่มา: ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

27 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ