โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือ เยื้อหุ้มสมองอักเสบเหตุเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)


แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือ เยื้อหุ้มสมองอักเสบเหตุเชื้อแบคทีเรีย

(Bacterial meningitis)

บทนำ

          โรค/ภาวะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นสาเหตุการปวดศีรษะรุนแรงที่มีอันตรายต่อชีวิตได้ ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาล่าช้า หรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เราต้องรู้ว่าเมื่อใดควรมาพบแพทย์ และโรคนี้มีอาการอย่างไร ซึ่งอ่านได้จากบทความนี้

ทั้งนี้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีสาเหตุสำคัญ คือ จากการติดเชื้อ แบคทีเรีย หรือจากการติดเชื้อไวรัส แต่บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ “แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Bacterial meningitis)” เท่านั้น ส่วนการติดเชื้อจากไวรัส ได้แยกเขียนเป็นอีกบทความในเว็บ haamor.com เช่นกัน คือบทความเรื่อง “ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบคืออะไร?

          แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือโรคที่เยื่อหุ้มสมองมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดมีภาวะอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ที่มีอันตรายต่อชีวิตได้

แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดได้อย่างไร?

          แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้หลายทางได้แก่

  • การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) แล้วกระจายไปที่เยื่อหุ้มสมอง
  • การติดเชื้อในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งแล้วเกิดการกระจายไปที่เยื่อหุ้มสมอง เช่น ติดเชื้อที่ ปอด ไต กระดูก เป็นต้น
  • การติดเชื้อโดยตรงที่เยื่อหุ้มสมอง ในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือได้รับการผ่าตัดสมอง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคตับแข็ง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (intra-thecal chemotherapy)

แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยของโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ปวดตึงต้นคอ/คอแข็ง (Stiffness of neck)
  • ไข้สูง
  • อาเจียน
  • ตาพร่า/ตามัว จากมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
  • เส้นประสาทสมองคู่ที่ 6 อัมพาต (Lateral rectus palsy) ทำให้มีอาการมองเห็นภาพซ้อน
  • ซึมลง กรณีมีอาการรุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรง แต่พบอาการนี้ได้น้อยมาก

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

          ผู้ป่วยที่มีอาการ ไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดตึงต้นคอ ก้มคอไม่ลง/คอแข็ง ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ควรซื้อยาทานเอง

แพทย์วินิจฉัยโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

          แพทย์วินิจฉัยโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยใช้ข้อมูลจากอาการผิดปกติข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจพบคอแข็งตึง ซึ่งถ้าไม่มีอาการซึม หรือแขนขาอ่อนแรง แพทย์จะเจาะหลัง เพื่อตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ (CSF, Cerebrospinal fluid) ทันที โดยไม่ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ สมองก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยมีระดับความรู้สึกตัวผิดปกติ ซึมลง หรือโคม่า หรือมีอาการ แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท หรือความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาท ก็ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิว เตอร์สมองก่อน เพื่อดูว่ามีความผิดปกติ/รอยโรคในเนื้อสมองหรือไม่ เพราะจะเป็นข้อห้ามในการเจาะหลัง

          อนึ่ง ลักษณะผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ในโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ จะพบความดันในกะโหลกศีรษะสูง ลักษณะน้ำฯขุ่น มีเม็ดเลือดขาวจำนวนหลายร้อยถึงพันตัว มีระดับโปรตีนสูง มีระดับน้ำตาลใน CSF ต่อในเลือดลดต่ำลงมาก แต่อาจตรวจเชื้อ พบเชื้อก่อโรคหรือไม่พบก็ได้ และอาจเพาะเชื้อแล้ว พบเชื้อฯหรือไม่พบเชื้อฯก็ได้เช่นกัน

รักษาแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างไร?

          การรักษาแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นการรักษาในโรงพยาบาล โดยการให้ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เป็นระยะเวลา ประมาณ 2 สัปดาห์ (แต่เชื้อแบคทีเรียบางชนิด อาจต้องได้รับยานานกว่านี้) ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสมอง บางครั้งอาจต้องเจาะระบาย CSF ออกซ้ำ ถ้ายังมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เนื่องจากมีภาวะความดันในโพรงกะ โหลกศีรษะสูง

แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

          แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการพยากรณ์โรค/ผลการรักษาดีมาก ผู้ป่วยที่มารับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะหายดีเป็นปกติเกือบทั้งหมด และมักไม่มีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงระยะยาวใดๆ ยกเว้นผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้ นอกจากนั้น โอกาสเกิดเป็นซ้ำน้อยมากๆ

อนึ่ง โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ไม่ต้องกังวล

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ถ้ามียา ต้องทานยาให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • สังเกตตนเองอย่างใกล้ชิดว่า มีอาการปวดศีรษะรุนแรงหรือไม่ มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติต่างๆทางระบบประสาทอื่นๆหรือไม่ (เช่น แขนขาอ่อนแรง อาเจียน ปากเบี้ยว) ถ้ามีก็ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคที่ดี ป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน

ป้องกันแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคแบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีก เลี่ยงได้) ที่กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคที่ดี ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • เมื่อมีโรคประจำตัว ต้องดูแลรักษา ควบคุมให้ได้ดี
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ เฉพาะเมื่อแพทย์แนะนำเท่านั้น

สรุป

          ถ้าท่านมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง ปวดตึงต้นคอ/คอแข็ง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที อย่าซื้อยาแก้ปวดทานเอง เพราะอาจทำให้บดบังอาการ ทำให้มาพบแพทย์ล่าช้า และทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า

ที่มา: ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

27 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ