โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ (Phantom limb syndrome)


กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ (Phantom limb syndrome)

บทนำ

          การมีอวัยวะครบ 32 เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดของคนเรา แต่บางครั้งก็ต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญไป เช่น สูญเสียแขน ขา หรือมือ การสูญเสียอวัยวะดังกล่าวไป นอกจากจะทำให้เราไม่สา มารถใช้แขน ขา หรือมือข้างนั้นแล้ว บางครั้งยังส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณแขน ขา มือที่สูญ เสียออกไปแล้ว หรือมีความรู้สึกว่าแขน ขา มือ เรายังอยู่ อาการหรือภาวะดังกล่าว ทางแพทย์เรียกว่า “กลุ่มอาการ/ภาวะความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ หรือกลุ่มอาการ/ภาวะหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ (Phantom limb syndrome)” กลุ่มอาการ/ภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร จะรักษาหายหรือไม่ อ่านได้จากบทความนี้ครับ

กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ คืออะไร?

          กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ คือ การที่ผู้ป่วยรู้สึกว่า แขน ขา มือ หรือเท้า ที่ถูกตัดออกไปจากการรักษาโรคต่างๆ หรือที่ขาดหายไปจากอุบัติเหตุนั้น ยังคงติดอยู่กับร่างกาย ยังมีการเคลื่อนไหวไปกับตัวเรา และส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บปวดบริเวณอวัยวะที่สูญ เสียไปแล้วนั้นร่วมด้วย

          อวัยวะที่พบบ่อย ที่มีกลุ่มอาการนี้เกิดขึ้น คือ แขน ขา มือ เท้า แต่อาจเกิดกับอวัยวะอื่นๆ ก็ได้ เช่น เต้านม ตา รวมถึงลำไส้ใหญ่ด้วย (กรณีผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก แต่พบน้อย) นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยที่ถูกตัดอวัยวะเพศ หรือมดลูกด้วย

          ทั้งนี้ มากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ต้องถูกตัดแขน ขา ออกไป จะมีความรู้สึกผิดปกติดัง กล่าวเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดการสูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มอาการผิดปกตินี้ พบได้บ่อยในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น เพราะจะมีความทรงจำกับรูป ลักษณ์ หรืออวัยวะดังกล่าวได้มากกว่าในเด็ก โดย

  • ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี พบกลุ่มอาการผิดปกตินี้น้อยกว่า 20% ของเด็กวัยนี้ที่สูญเสียอวัยวะ
  • อายุ 2-4 ปี พบกลุ่มอาการนี้ประมาณ 25%
  • อายุ 4-6 ปี พบกลุ่มอาการนี้ประมาณ 60%
  • อายุ 6-8 ปี พบกลุ่มอาการนี้ประมาณ 75%
  • และถ้าอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป พบกลุ่มอาการนี้ประมาณ 100%

กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

          กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ เกิดจากสมองใหญ่ส่วนนอก (Cerebral cortex) และสมองส่วนธาลามัส(Thalamus) (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง กายวิภาคของสมองได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบประสาท) ได้จดจำ และบันทึกไว้แล้วว่า แขน ขา มือ อวัยวะต่างๆ มีรูปลักษณะอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร และทำกิจกรรมอะไรบ้าง เมื่อมีการสูญเสียอวัยวะนั้นๆไปแล้ว แต่สมองยังมีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ จึงเกิดกลุ่มอาการผิดปกติดังกล่าว นอกจากนี้อาจเกิดจากต้นทางเส้นประสาทส่วนปลายของอวัยวะนั้น ๆที่ยังเหลือค้างอยู่ จึงได้ส่งกระแสไฟฟ้าหรือส่งสัญญาณกลับไปที่สมอง ทำให้สมองส่วนนั้นๆ เข้าใจว่ายังมีอวัยวะนั้นๆอยู่ และถ้าแปลความหมายผิด ก็อาจก่อให้เกิดอาการปวดอวัยวะนั้นๆขึ้นได้ ทั้งๆที่ไม่มีอวัยวะนั้นๆอยู่แล้ว/ถูกตัดไปแล้ว

กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ มีอาการอย่างไร?

           อาการผิดปกติที่เกิดจากกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ที่พบส่วนใหญ่ นอกจากความรู้สึกที่ว่า อวัยวะนั้นๆยังคงมีอยู่แล้ว คือ อาการปวดบริเวณอวัยวะที่ถูกตัดออกไป (ทั้งๆที่ไม่มีอวัยวะนั้นๆแล้ว) หรือ รู้สึกว่าแขน (ที่ตัดออกไป) อยู่ในท่างอข้อศอก หงายมือ หรือความรู้สึกว่า แขนขาสั้นลง หรือรู้สึกว่าใส่แหวน ใส่นาฬิกา อยู่บริเวณนิ้วและมือที่สูญเสียไป

          นอกจากอาการรู้สึกหลอนว่า มีอวัยวะอยู่หรือปวดแล้ว ผู้ป่วยยังอาจมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมได้อีก เช่น อาจมีอาการ ตะคริวร้อน เย็น ผิดปกติ กับบริเวณอวัยวะที่ถูกตัดออกไปทั้งนี้ ประมาณ 75% ของผู้ป่วย กลุ่มอาการผิดปกนี้ เกิดขึ้นทันทีหลังฟื้นจากดมยาสลบ แต่บางรายอาจเกิดช้าภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ได้ และ ส่วนใหญ่อาการผิดปกติเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง เมื่อผู้ป่วยทำความเข้าใจกับโรค และกับอาการผิดปกติดังกล่าวได้แล้ว แต่บางรายก็มีอาการนานเป็นปี หรือหลายๆปี หรือบางรายนานมากกว่า 50 ปีก็มีรายงาน

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่?

ปัจจัยกระตุ้น/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ได้แก่

  • ความเครียด มีปัญหาทางสุขภาพจิต
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • มีอาการเจ็บป่วย ไม่สบายอื่นๆที่เกิดร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อหลังผ่าตัด
  • เคยมีอาการปวดบริเวณนั้นก่อนผ่าตัด
  • เคยมีโรคของเส้นประสาทส่วนนั้นก่อนผ่าตัด
  • มีผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนบริเวณที่ผ่าตัดอวัยวะออก เช่น แผลผ่าตัดติดไม่ดี แผลผ่าตัดติดเชื้อ และ/หรือมีก้อนเลือด (Blood clot) เกิดในบริเวณแผลผ่าตัด

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่เมื่อมีกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่?

          เมื่อเกิดอาการจากกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ขณะอยู่ในโรงพยาบาล ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลรักษา เพื่อการให้คำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า อาการอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังเมื่อผ่าตัดนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นปี ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว และอาการนั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือไม่มั่นใจว่า เป็นอาการอะไร มีสาเหตุจากอะไร ก็ควรพบแพทย์ เพื่อให้การประเมิน และให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ได้อย่างไร?

          แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ โดยพิจารณาจากอาการผิด ปกติดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ร่วมกับประวัติการสูญเสียอวัยวะ โดยไม่ต้องมีการตรวจเลือด หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง แต่อย่างใด

รักษากลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่อย่างไร?

          การรักษากลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและครอบครัว ให้เข้าใจถึงธรรมชาติของโรค/ของกลุ่มอาการนี้ (เพราะอาการส่วนใหญ่หายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการรักษา) ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ โดย เฉพาะอาการที่พบบ่อย ซึ่งคือ อาการปวด

          การรักษาอาการปวดจากกลุ่มอาการนี้มีหลายวิธี เช่น การให้ยาแก้อาการปวดประสาท, ยาต้านความเศร้า (ยามีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทได้), การรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า หรือความร้อนในบริเวณที่ปวด, การผ่าตัดแก้ไขรอยแผลของอวัยวะส่วนที่เหลือ, และการฝึกสมองด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การสะท้อนกลับของสมอง (Biofeedback)” โดยฝึกให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวอวัยวะที่เหลืออยู่ต่อหน้ากระจก ซึ่งจะเป็นการฝึกให้สมองรับรู้ว่าความเป็นจริงที่เคลื่อนไหว และที่เห็นอยู่นั้นว่า คืออะไร ก็จะช่วยลบข้อมูลความทรงจำเก่าออกไป อาการที่ยังหลงคิดว่ามีอวัยวะอยู่ ก็จะค่อยๆลดลง รวมทั้งอาการปวดด้วย ซึ่งจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ (ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้น) และดุลพินิจของแพทย์

กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

          กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ก่อผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย โดยทำให้เกิดความรำคาญถึงทรมาน จากความรู้สึกผิดปกติ และจากอาการปวด ที่จะมากน้อยต่างกันในผู้ ป่วยแต่ละราย บางรายผู้ป่วยอาจปวดจนนอนไม่หลับ และนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้า และคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง

กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

           โดยทั่วไป กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ มีการพยากรณ์โรคที่ดี ส่วนใหญ่อาการผิดปกติเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง เมื่อผู้ป่วยทำความเข้าใจกับโรค และกับอาการผิดปกติดังกล่าวได้แล้ว แต่บางรายก็มีอาการได้นานเป็นปี หรือหลายๆปี หรือบางรายนานมาก กว่า 50 ปีก็มีรายงาน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ?

          การดูแลตนเองเมื่อเกิดมีกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ประกอบด้วย การดูแลแผลที่ผ่าตัด เพราะถ้าแผลมีปัญหา/ผลข้างเคียง อาการเหล่านี้ก็เป็นมากขึ้น นอกจากนั้น คือ

  • การปรับตัว และยอมรับว่า เราได้สูญเสียอวัยวะนั้นไปแล้วจริงๆ
  • การทำกายภาพบำบัด และ
  • การฝึกการสะท้อนกลับของสมองดังกล่าวในหัวข้อการรักษา เพื่อให้อาการเหล่านี้หายไปในที่สุด

ป้องกันกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ได้อย่างไร?

          การป้องกันกลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่ ที่ดีที่สุด คือต้องไม่ให้เกิดการสูญเสียอวัยวะ ปัจจุบันสาเหตุการสูญเสียอวัยวะที่พบบ่อย คือ อุบัติเหตุ และโรคเบาหวาน ดัง นั้น ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญที่สุด คือควรเลิกดื่มสุรา และควรป้องกันรักษา ควบ คุมเบาหวานให้ดี ระวังการเกิดแผลเบาหวานที่ขา และที่เท้า

          ส่วนเมื่อจำเป็นจะต้องตัดอวัยวะ การป้องกันการเกิดกลุ่มอาการนี้ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้น ที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และการเข้าใจ/ยอมรับในธรรมชาติของโรค/ของกลุ่มอา การนี้

สรุป

          จะเห็นได้ว่า ความเคยชินของมนุษย์ มีความสำคัญมาก และยากต่อการลืมเลือนออกไป ขนาดไม่มีแขนขา สมองก็ยังคิดว่ามี ดังนั้น เราต้องฝึกการสะท้อนของสมอง คิดในสิ่งดีๆ ผ่อนคลาย เพื่อให้สมองและชีวิตเรามีความสุข อย่าให้เหมือน “กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่” ที่มีอาการหลงผิดว่าแขนขายังมีอยู่

ที่มา : ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

27 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ