โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

ความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน โดยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


                           

ความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน

                               เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา13.30น. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ณ  ห้องประชุมหนองแวง  อาคารเรียนรวม  คณะแพทยศาสตร์ ได้จัดแถลงข่าวความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน นำโดย รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม สาขาวิชาอายุรศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ ผศ.นพ.ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ และ นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว ผู้ป่วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์

รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ว่า ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความก้าวหน้าทางการแพทย์  ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย ซึ่งการรักษาผู้ป่วย โดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด นับเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบันและอนาคต

ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์เจ้าของไข้  เปิดเผยถึงโรคหนังแข็งว่า โรคหนังแข็ง ( Scleroderma ) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ร่างกายผลิตเส้นใยคอลลาเจนออกมาอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นการสร้างพังผืด ส่งผลให้พังผืดไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เกิดผิวหนังตึงแข็ง บริเวณใบหน้า นิ้วมือ นิ้วเท้า แขนขา หน้าอก หน้าท้อง ซึ่งหนังแข็งไม่ได้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายนอกเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงอวัยวะภายในด้วย เช่น ภาวะปอดเป็นพังผืด และกล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ซึ่งอันตรายอาจพิการและเสียชีวิต โรคหนังแข็งส่วนใหญ่พบในวัยกลางคน-วัยสูงอายุ (ราว 40-50 ปี) และพบในคนอายุน้อยได้น้อยมาก โดยทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 24:1แสนคน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 40/1แสนคน จากการเก็บข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยโรคหนังแข็งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมากกว่าในภาคอื่นๆ

นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว ผู้ป่วยหญิง วัย 18 ปี เข้ารักษาเมื่อเดือนมกราคม 2565 ได้ถูกส่งตัวมาเพื่อรักษา ต่อกับอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม อาการในขณะที่มาพบอายุรแพทย์ พบว่ามีภาวะพังผืดลามไปที่ปอด ผิวหนังแข็งตึง จึงได้วางแผนรักษาด้วยการทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง หลักจากการรักษา 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีผิวนุ่มขึ้น และในเดือนที่ 3 พบว่าข้อต่อดีขึ้น สามารถเหยียดนิ้วมือ ข้อศอก และแขนได้สะดวก และสีผิวกลับเป็นปกติอย่างเห็นได้ชัด การทำงานของอวัยวะภายในคงที่ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ สามารถช่วยเหลือตนเองได้และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ

โรคหนังแข็งเป็นโรคที่พบได้น้อย ผู้ป่วยหลายคนยังไม่ทราบแหล่งที่จะหาข้อมูลเรื่องโรคและการปฏิบัติตัว หากท่านมีอาการผิดปกติที่ผิวหนังหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคหนังแข็ง แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา

ผศ.นพ.ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา  กล่าวถึงขั้นตอนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ปัจจุบันมีนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยใช้เซลล์ของตนเอง เป็นหนึ่งทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้โรคสงบหรือหายขาดและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติ โดยหลักการคือ แพทย์จะทำการกระตุ้นเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้ป่วยไว้ หลังจากนั้นจะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง เพื่อกำจัดเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและรีเซ็ตระบบภูมิคุ้มกัน แล้วนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดกลับมาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว โดยมีขั้นตอนหลักดังนี้

1.ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความแข็งแรงของร่างกาย

2.แพทย์จะทำการกระตุ้นเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้ป่วย

3.ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงเพื่อกำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและรีเซ็ตระบบภูมิคุ้มกัน

4.นำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดกลับมาฉีดให้แก่ผู้ป่วยให้ร่างกายฟื้นตัว

ปกติแล้วการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะทำให้กับผู้ป่วยที่อายุไม่มากเกินไปและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ยังดี โดยเลือกผู้ป่วยอาการของโรครุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนในผู้ป่วยหนังแข็งที่อายุสูงวัยและอาการไม่รุนแรงมากนัก ไม่จำเป็นต้องปลูกถ่าย

ศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอบคุณผู้บริจาคสมทบกองทุนวันศรีนครินทร์ ทุกๆ ท่าน เพราะเงินจากการบริจาคของท่านทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้นำมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีโรคที่ซับซ้อน มีรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายเกินสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล และพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยรายนี้เป็นตัวอย่างที่เราได้นำเงินบริจาคของประชาชนทุกท่านมาช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างปกติ  ชีวิตยังมีหวังด้วยพลังแห่งการให้ ร่วมเป็นผู้ให้ได้ที่กองทุนวันศรีนครินทร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

แหล่งที่มา https://md.kku.ac.th/article/mdnews1/

2 เดือนที่แล้ว
ประชาสัมพันธ์