โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

อาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์ (Neurological Symptoms in Thyroid Disorders)


อาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์ (Neurological Symptoms in Thyroid Disorders)

บทนำ

“เมื่อวานนี้ ผมไปหาหมอด้วยอาการ แขน ขาอ่อนแรง หมอบอกว่าผมเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ผมงงครับ ทำไมโรคไทรอยด์ถึงทำให้ผมมีอาการแขน ขาอ่อนแรงได้”

จริงแล้วโรคไทรอยด์ส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทได้หลายอาการ ลองศึกษารายละเอียดจากบทความนี้ครับ แล้วท่านจะเข้าใจ และสามารถดูแลเบื้องต้นตนเองและคนที่เรารักได้

อาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์เป็นผลจากอะไร?

อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เป็นผลจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์นั้น มีหลากหลายอาการ โดยเกิดจากความผิดปกติได้ 2 ประการ คือ จากไทรอยด์ทำงานเกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อย ที่เกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำ งานเกิน มีดังนี้ เช่น

  • ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองและไขสันหลัง เช่น อาการซึม สับสน หงุดหงิดง่าย รวมทั้งอาการอัมพาตจากผลของไทรอยด์เป็นพิษ จึงส่งผลให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เกิดการหลุดของลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง รวมทั้งอาการไม่มีสมาธิและมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ (เช่น การกระตุกของกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า Chorea)
  • ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย คือ เส้นประสาท กล้ามเนื้อและบริเวณรอย ต่อของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction:NMJ) อาการผิดปกติที่พบ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือจากภาวะเกลือแร่โพแทสเซียม (Potassium) ในเลือดต่ำ หรือในโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอม จี (Myasthenia gravis:MG)

ความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดจากภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) โดยที่พบได้บ่อย เช่น

  •  ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง คือ ภาวะโคม่า โรคสมองเสื่อม โรคซึม เศร้า สมาธิสั้น เคลื่อนไหวช้า
  • ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และ โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)

อาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์เกิดได้อย่างไร?

กลไกการเกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทเหตุจากไทรอยด์นั้น ผ่านโดยตรงจากระ ดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไป จึงส่งผลต่อระบบประสาทส่วนต่างๆ รวมทั้งต่อสารสื่อประสาท และ เกลือแร่ในร่างกาย จึงส่งผลให้มีอาการผิดปกติในทุกส่วนของระบบประสาท

อาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์มีอะไรบ้าง?

อาการทางระบบประสาทสาเหตุจากโรคไทรอยด์ ได้แก่

  • ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเหตุไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต้นแขน (ไหล่) ต้นขา (สะโพก) ลุกขึ้นยืนหยิบของบนชั้นสูงลำบาก เดินขึ้นบันไดหรือลุกขึ้นจากการนั่งยองๆลำบาก ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ อาจมีอาการตะคริว หรือกล้ามเนื้อกระตุกได้ โดยพบร่วมกับภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน (โรคไทรอยด์เป็นพิษ) หรือทำงานต่ำกว่าปกติ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ก็ได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของไทรอยด์ที่ชัดเจนร่วมด้วยหรือ ไม่ก็ได้ เช่น
    •  เหนื่อยง่าย ใจสั่น ผอมลง ร้อนง่าย กรณีไทรอยด์ทำงานเกิน
    • หรือเชื่องช้า คิดช้า ท้องผูก หนาวง่าย กรณีไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ
  • ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเหตุสารโพแทสเซียมในเลือดต่ำ โดยผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของแขนขา 2 ข้าง เป็นๆ หายๆ ครั้งละ 1-2 วัน มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอม จี ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วตัว ได้แก่ การลืมตา การเคี้ยว การกลืนอาหาร การพูด การเคลื่อนไหว ลักษณะสำคัญคือ อาการจะเป็นมากช่วงสายหรือบ่ายของวัน เป็นมากขึ้นหลังจากทำกิจกรรมต่อเนื่อง แต่เมื่อพักแล้วอาการจะดีขึ้น มักพบร่วมกับภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน
  • ภาวะสมองเสื่อมจากไทรอยด์ทำงานต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆแบบผู้ป่วยสมองเสื่อมร่วมกับมีอาการไทรอยด์ทำงานต่ำ คือ เชื่องช้า คิดช้า ท้องผูก น้ำหนักขึ้น/อ้วน หนาวง่าย
  • ภาวะโคม่าเหตุไทรอยด์ทำงานต่ำ (Myxedema coma) โดยผู้ป่วยจะมีอาการโคม่าร่วมกับตรวจพบอาการผิดปกติของภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติไม่ว่าจะเป็นอาการทางระบบประสาทอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออา การผิดปกติของไทรอยด์ ก็ควรต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติที่เกิดจากโรคอะไร เพื่อได้รับการรักษาที่สมควร

แพทย์วินิจฉัยอาการผิดปกติทางระบบประสาทว่าเกิดจากไทรอยด์ทำงานผิดปกติได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่าอาการผิดปกติต่างๆทางระบบประสาทว่าเกิดจากโรคของไทรอยด์ โดยจะพิจารณาอาการหลักก่อน กล่าวคือ ดูว่าอาการผิดปกติของระบบประสาท เป็นความผิดปกติแบบไหน เช่น ผู้ป่วยหญิงมีอาการหนังตาตก ลืมตาลำบาก เป็นมากตอนบ่ายๆ ร่วมกับมีอาการมองเห็นภาพซ้อนเมื่อมองหรือใช้สายตานาน พักแล้วดีขึ้น ซึ่งอาการดังกล่าวน่าจะเข้าได้กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี หลังจากนั้นจะพิจารณาต่อว่า มีอาการร่วมของภาวะไทรอยด์ที่ผิด ปกติหรือไม่ ถ้าสงสัยแพทย์ก็จะตรวจวัดหน้าที่การทำงานของต่อมไทรอยด์ (จากการตรวจเลือด) เพื่อการยืนยัน เช่น ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ผอมลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวเข้าได้กับภาวะไทรอย์เป็นพิษ แพทย์จึงส่งตรวจเลือดเพื่อประเมินหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ถ้าพบว่าเข้าได้กับไทรอยด์เป็นพิษ จึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจีร่วมกับภาวะไท รอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

มีหลักรักษาอาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์อย่างไร?

การรักษาอาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์ ต้องรักษาทั้งอาการผิดปกติทางระบบประสาทและรักษาแก้ไขภาวะไทรอยด์ที่ผิดปกติด้วย บางกรณีอาจต้องพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย เช่น ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอม จี เหตุไทรอยด์เป็นพิษเนื่องจากมีการศึกษาที่ระบุว่า อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไวกว่าปกติ เป็นต้น

ผลการรักษาเป็นอย่างไร? หายดีหรือไม่?

ส่วนใหญ่แล้วผลการรักษา (การพยากรณ์โรค) ดีมากในทุกอาการทางระบบประสาทและของไทรอยด์ ส่วนระยะเวลาในการรักษานั้น ขึ้นกับอาการและความผิดปกติของไทรอยด์ว่า ต้องรักษานานเท่าใด ซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน

เมื่อมีอาการทางระบบประสาทเหตุไทรอยด์ ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่ถูกต้องนั้น คือ ควรต้องได้รับการรักษาทั้งสองภาวะร่วมกัน คือ ต้องดู แลตนเองทั้งอาการผิดปกติของไทรอยด์และอาการทางระบบประสาท โดยการพบแพทย์ ทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้อาการทรุดลง เช่น การพักผ่อนไม่พอ

การอดนอน การดื่มสุรา และพบแพทย์ตามนัดเสมอ

ถ้าเป็นโรคไทรอยด์ จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้อย่างไร?

การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนทางระบบประสาท คือ การต้องรีบรักษาอาการผิด ปกติของไทรอยด์ตั้งแต่เริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย อย่ารอให้โรคมีอาการรุนแรงมากจึงเริ่มรักษา และต้องรักษาต่อเนื่องไม่ให้เกิดการเป็นซ้ำ อย่าขาดการรักษาแบบต่อเนื่อง เพราะการรักษาโรคไทรอยด์นั้นต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2-3 ปี

สรุป

จากดังได้กล่าวแล้ว ถ้าท่านมีคนรู้จักและมีความผิดปกติดังกล่าว ท่านต้องแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินให้แน่ชัดว่ามีสาเหตุจากอะไร และหมั่นดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ (ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ) ที่สำคัญ คือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ

ที่มา : ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

28 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ