โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)


อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)

บทนำ

อาการปวดศีรษะ (Headache) เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยปวดศีรษะ แต่โชคดีที่อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่นั้น มีสาเหตุไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เวลามีอาการปวดศีรษะ จึงนิยมซื้อยาทานเองเพื่อแก้อาการปวดศีรษะ จนบางครั้งกว่าจะมาพบแพทย์ก็มีอาการรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สนใจดูแลสุขภาพตนเองได้ทราบว่า สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะคืออะไร และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ นำเสนอแบบ ถาม-ตอบ เพื่อความเข้าใจที่ง่าย ตรงประเด็น

อาการปวดศีรษะที่ร้ายแรงคืออะไร?

เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุของการปวดศีรษะที่พบบ่อย คือ ปวดศีรษะไมเกรนและปวดศีรษะจากความเครียด ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุหลักนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการ จะเป็นๆหายๆ รักษาหรือไม่รัก ษาก็หายเองได้ และเป็นมานานหลายๆปี แต่ก็ไม่มีอันตรายต่อชีวิต

ส่วนอาการปวดศีรษะที่ร้ายแรงนั้น คือ อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุและต้องได้รับการแก้ ไขอย่างเหมาะสม ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง โรคนั้นจะส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้

สาเหตุของอาการปวดศีรษะร้ายแรงมีอะไรบ้าง?

สาเหตุที่พบของการปวดศีรษะร้ายแรง ได้แก่

1.   ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) สมองอักเสบ เป็นฝีในสมอง

2.   เนื้องอกสมอง มะเร็งสมอง รวมทั้งการแพร่กระจายของมะเร็งจากระบบอื่นๆสู่สมอง เช่น มะเร็งปอด หรือ มะเร็งเต้านม แพร่กระจายเข้าสู่สมอง เป็นต้น

3. มีเลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง เลือดออกที่ผิวสมอง หรือ เลือดออกในโพรงสมอง

4. หลอดเลือดดำหรือโพรงหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน

5. ติดเชื้อในกระแสเลือด/โลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ติดเชื้อในโพรงไซนัส หรือ ติดเชื้อในช่องหู

6. ความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง หรือ ต่ำกว่าปกติ

อาการปวดศีรษะร้ายแรงมีลักษณะอย่างไรบ้าง?

ลักษณะสำคัญของอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุร้ายแรง ประกอบด้วย

1. อาการปวดศีรษะจะรุนแรงมาก หรือรุนแรงที่สุดในชีวิต ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน

2. อาการปวดศีรษะรุนแรง เป็นขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็ว

3. อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงมากขึ้นๆโดยไม่เคยหายไป อาการมากขึ้นทั้งความถี่ ความรุนแรง และระยะเวลาที่มีอาการก็นานขึ้นๆ

4.  พบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆของระบบประสาท เช่น แขน ขาอ่อนแรง ตามัว มองเห็นภาพซ้อน การได้ยินลดลง หรือชักเกร็ง กระตุก เดินเซ หรือคอแข็ง เป็นต้น

5. อาจพบร่วมกับ มีไข้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

6. อาเจียนมาก

7. อาการปวดศีรษะ อาจร่วมกับอาการผิดปกติระบบอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร ผอมลง ไอ มีหนองไหลออกจากหู เป็นต้น

8. ทานยาแก้ปวด แต่อาการปวดไม่ลดลง

ใครมีโอกาสเกิดปวดศีรษะที่ร้ายแรง?

ทุกคนมีโอกาสเกิดการปวดศีรษะที่ร้ายแรงได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือใช้ยาบางชนิดก็มีโอกาสเป็นมากขึ้น ได้แก่

1. โรคประจำตัว ได้แก่ โรคตับวาย โรคไตวาย โรคระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง โรคหูน้ำหนวก โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจรูมาติกส์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี โรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี

2. หญิงตั้งครรภ์

3. นักกีฬาที่มีการปะทะกัน เช่น นักมวย รักบี้

4. รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนขนาดสูง

5. ผู้ซึ่งประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะเป็นประจำ เช่น เมาเหล้า ล้มบ่อยๆ

กรณีใดบ้างที่ต้องรีบไปพบแพทย์?

ถ้าท่านมีอาการปวดศีรษะลักษณะต่อไปนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที (ฉุกเฉิน)

1. อาการปวดศีรษะเป็นขึ้นมาทันที และมีความรุนแรงที่สุด ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ทั้งนี้อาจเกิดจากเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง

2. อาการปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับมีไข้ ก้มคอไม่ลง (คอแข็ง) ทั้งนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)

3. อาการปวดศีรษะร่วมกับมีความผิดปกติอื่นๆของระบบประสาทดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ

4. อาการปวดศีรษะร่วมกับอาเจียน ตาพร่ามัว ทั้งนี้อาจเกิดจากความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง

5. อาการปวดศีรษะร่วมกับมีหนองไหลจากหู มีไข้ และมีแขนขาอ่อนแรงหรือความผิด ปกติทางระบบประสาทอื่นๆ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากฝีในสมอง

6. อาการปวดศีรษะที่เกิดภายหลังได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับอาเจียน ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากเลือดออกในสมอง หรือเลือดออกที่ผิวสมอง

7. อาการปวดศีรษะที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด

8. อาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

9. ผู้ป่วยทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ (เช่น ในผู้ป่วยโรคหัวใจ) และมีอาการปวดศีรษะแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อาการปวดศีรษะแบบไหนที่ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง?

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ สมอง มีประโยชน์ในการบอกว่ามีความผิดปกติในสมองหรือไม่ เช่น เลือดออกในสมอง หรือในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ฝีในสมอง หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน เนื้องอกสมอง ดังนั้น แพทย์จะส่งตรวจก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะแบบที่ต้องมาพบแพทย์ทันที (ลักษณะตามที่กล่าวในหัวข้อ อาการ ) ร่วมกับแพทย์ตรวจพบความผิดปกติ และ/หรือสงสัยว่ามีความผิดปกติในสมอง

กรณีที่ปวดศีรษะมานานหลายปี รักษาไม่หายต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/เอมอาร์ไอสมองหรือไม่?

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าถ้าปวดศีรษะมาหลายปี เรื้อรังไม่หาย น่าจะต้องมีโรคทางสมอง เช่น เนื้องอกสมอง ต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ สมอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ยิ่งเป็นมานานมากเท่าไหร่ โอกาสจะมีสาเหตุที่ร้ายแรงนั้นยิ่งน้อยมากๆ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากปวดศีรษะไมเกรน ความเครียด หรือจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกิน

กรณีประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ หลังจากนั้นปวดศีรษะ ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมองหรือไม่?

กรณีประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกังวลมากว่าจะมีเลือดออกในสมองหรือ ไม่ จริงๆแล้วโอกาสมีเลือดออกในสมองก็มี โดยพบในกรณีที่ศีรษะได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ตาพร่ามัว ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและ/หรือหลัง จากที่อุบัติเหตุเกิดขึ้น ร่วมกับกรณีที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาท ก็มีความ จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ เอมอาร์ไอสมองอย่างแน่นอน

กรณีมีไข้ร่วมกับปวดศีรษะ จะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่?

อาการปวดศีรษะมักพบในผู้ป่วยที่มีไข้เสมอ ไม่ว่าไข้นั้นเกิดจากสาเหตุใดๆ เช่น ไข้หวัดก็มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยได้บ่อย ไซนัสอักเสบก็ปวดศีรษะร่วมกับไข้ได้ ทั้ง 2 อาการนี้ไม่ได้ร้ายแรง แต่ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อนั้น หมายถึง มีการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะเป็นหลักและรุนแรง ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่มีไข้ก็จะปวดศีรษะร่วมกับมีคอแข็ง คือ ไม่สามารถก้มศีรษะลงได้ (ปกติต้องก้มได้ระดับคางมาชิดหน้าอก)

สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง เมื่อมีอาการปวดศีรษะที่ร้ายแรงหรือต้องรีบไปโรงพยาบาล?

กรณีอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุร้ายแรงนั้น หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ทันทีครับ เพราะอาการดังกล่าวไม่หายได้เอง และถ้าช้าเกินไป อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดศีรษะร้ายแรงได้อย่างไร?

การวินิจฉัยหาสาเหตุของการปวดศีรษะที่รุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับ อาการผู้ป่วย และการตรวจร่างกายจากแพทย์ ที่เป็นแนวทางบ่งชี้สาเหตุสำหรับแพทย์เป็นอันดับแรก ต่อจากนั้น แพทย์จึงจะให้การตรวจต่างๆเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคให้เฉพาะเจาะจง เช่น ถ้าสงสัยภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) การตรวจยืนยันคือการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังแต่ถ้าสงสัยเลือดออกในสมอง ก็ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ สมอง เป็นต้น

แพทย์มีแนวทางรักษาอาการปวดศีรษะร้ายแรงอย่างไร?

การรักษาอาการปวดศีรษะร้ายแรง ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง ก็ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อนั้นๆ ถ้าเป็นฝีในสมองก็ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ และอาจพิจารณาผ่าตัดในบางกรณี เป็นต้น

อาการปวดศีรษะร้ายแรงรักษาหายไหม?

ผลการรักษาอาการปวดศีรษะร้ายแรงนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ ความผิดปกติทางระบบประสาท โรคประจำตัวที่มีร่วมด้วย และสุขภาพโดย รวมของผู้ป่วย

สามารถป้องกันอาการปวดศีรษะร้ายแรงได้ไหม? อย่างไร?

การป้องกันอาการปวดศีรษะร้ายแรงนั้น ทำได้โดยหลักทั่วไป กล่าวคือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ทานอาหารสุกๆดิบๆ ไม่ดื่มสุรา ไม่ซื้อยาทานเองโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและทานยาละลายลิ่มเลือด และถ้ามีปัญหาสุขภาพใดๆที่สังเกตอาการเบื้องต้นและอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการนั้นๆดำเนินไปอย่างรวดเร็วรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที ที่สำคัญคือ เมื่อรักษาหายดีแล้ว บางโรคต้องรับประทานยาและพบแพทย์ต่อเนื่อง อย่าขาดการรักษาหรือซื้อยาทานเองโดยคิดว่า ไม่เป็นอะไร พบแพทย์เสียเวลา เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นกับสมอง ท่านอาจไม่มีโอกาสแก้ตัว

สรุป

ดังนั้น เมื่อท่านทราบถึงสัญญาณอันตรายของการปวดศีรษะร้ายแรง ผมหวังว่าท่านคงสบายใจขึ้น เมื่อมีอาการปวดศีรษะไม่ต้องกังวลมากว่า จะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่ถ้ามีข้อสงสัยว่าตนเองจะเกิดความผิดปกติที่ร้ายแรง ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้อาการเป็นรุนแรงขึ้น

ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ต้องรีบมาโรงพยาบาลพบแพทย์

ที่มา : ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

28 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ