โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับ

อาการเพ้อ (Delirium) อาการสับสนฉับพลัน (Acute Confusion)


อาการเพ้อ (Delirium) อาการสับสนฉับพลัน (Acute Confusion)

บทนำ

“คุณหมอครับ พ่อผมเป็นอะไรไม่รู้ อยู่ดีๆก็จำคนในบ้านไม่ได้ ไม่ยอมนอน พูดถึงแต่เพื่อนๆที่เสียชีวิตไปแล้ว ว่าได้มาเยี่ยมพูดคุยด้วยกัน พ่อผมอาการหนักแล้วใช่ไหมครับ ผมกังวลใจมากเลยครับ แต่พอจะพามาหาหมอตอนเช้า พ่อก็หายดี” อาการผิดปกติดังกล่าวสร้างความกังวลใจต่อลูกหลานที่อยู่ด้วยเป็นอย่างมาก กลัวว่าพ่อจะเสียชีวิต เพราะเพื่อนๆของพ่อมาชวนแล้ว แต่อยู่ดีๆตอนเช้าก็หายดี อาการผิดปกตินี้คืออะไร เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร และใครมีโอกาสเป็นแบบนี้บ้าง

อาการเพ้อคืออะไร?

อาการผิดปกติดังกล่าวในบทนำ คือ อาการเพ้อ (Delirium) หรืออีกชื่อคือ อาการสับสน ฉับ พลัน/อาการสับสนเฉียบพลัน (Acute confusion) ลักษณะที่จำเพาะของอาการนี้คือ มีอาการสับ สนเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นเพียงระยะเวลาไม่นาน เป็นบางช่วงเวลาเท่านั้นอาการเป็นๆ หายๆ มักเป็นช่วงพลบค่ำหรือช่วงกลางคืน

อาการเพ้อมีลักษณะสำคัญอย่างไร? แตกต่างจากโรคสมองเสื่อมอย่างไร?

อาการเพ้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อย และก่อให้เกิดความสับสนกับผู้ป่วยหรือญาติว่า เป็นอา การอะไรแน่ ระหว่างเพ้อ/สับสนฉับพลัน กับอาการโรคสมองเสื่อม และญาติจะมีความกังวลใจว่า ผู้ ป่วยเป็นอาการสมองเสื่อมหรือไม่ ความเหมือนและแตกต่างของ 2 ภาวะนี้ สรุปดังตาราง

ลักษณะ

อาการเพ้อ

อาการสมองเสื่อม

การดำเนินโรค

เป็นรวดเร็ว เป็นทันที

ค่อยๆเป็น

เป็นๆ หายๆ

ใช่

เป็นตลอดเวลา

อาการรุนแรงช่วงค่ำ กลางคืน

ใช่

เป็นเท่ากันทั้งวัน แต่ก็อาจมีอาการสับสนได้เป็นบางช่วงเวลา

การนอนผิดเวลา คือ นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน

พบบ่อย

พบได้แต่ไม่บ่อย

เอะอะโวยวาย

พบบ่อย

พบไม่บ่อยในระยะแรก

เห็นภาพหลอน

พบบ่อย

พบไม่บ่อยในระยะแรก

จำคนใกล้ชิดไม่ได้

พบบ่อย

พบไม่บ่อย

ซึม

พบได้บ้าง

ไม่ค่อยพบ

อาการรุนแรงมากขึ้น

พบไม่บ่อย

ลักษณะของโรคค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องโรคสมองเสื่อมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคสมองเสื่อม

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการเพ้อได้บ่อย?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการเพ้อได้บ่อย คือ

เมื่อมีอาการเพ้อควรมาพบแพทย์เมื่อไหร่?

ถ้ามีญาติหรือผู้สูงอายุในบ้านมีอาการเพ้อ ถ้าไม่รุนแรงเพียงแค่สับสน และผู้ดูแลสามารถให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ พูดคุย จัดการการให้นอนได้ และผู้ป่วยก็สงบ แบบนี้ก็ไม่จำเป็น ต้องพามาพบแพทย์ เพียงแค่จัดสภาพแวดล้อมและจัดกิจกรรมที่เหมาะสมก็พอ (เช่น ให้มีคนคอยดูแลพูดคุย ได้เดินเล่น ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ) โดยในการพบแพทย์ครั้งต่อไปตามนัด ก็แจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าผู้ป่วยมีอาการเพ้อ และได้จัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไรไปบ้าง

แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเพ้อ สับสนอย่างรุนแรง โวยวายไม่นอนเลยต่อเนื่องหลายวัน หรือมีอา การแทรกซ้อน เช่น มีไข้ ปัสสาวะราด ไม่ค่อยรู้ตัวดี อย่างนี้ก็ควรพามาพบแพทย์ก่อนนัด หรือพามาโรงพยาบาล ที่แผนกฉุกเฉินได้เลย

แพทย์วินิจฉัยอาการเพ้ออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการเพ้อโดยจะพิจารณาจากอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง

อย่างไรก็ดี แพทย์อาจส่งเจาะตรวจเลือด หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง (ในบางกรณีที่สงสัยมีรอยโรคในสมอง) เพื่อหาโรคร่วมหรือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเพ้อ

การรักษาอาการเพ้อทำอย่างไร?

การรักษาอาการเพ้อประกอบด้วย

  1. การแก้ไขสาเหตุโดยตรง เช่น เมื่อสาเหตุเกิดจากการใช้ยานอนหลับ ก็จะหยุดยา หรือมีโรคติดเชื้อ ก็ให้การรักษาภาวะติดเชื้อดังกล่าว เป็นต้น
  2. การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ การพูดคุย อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ รู้เวลา รู้สถานที่ และรู้บุคคลต่างๆ แต่ถ้าอาการเพ้อไม่ดีขึ้น ก็ต้องมีการให้ยาแก้ไขอาการเพ้อร่วมด้วย
  3. การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมในเหมาะสม เช่น
  • ให้มีแสงสว่างเพียงพอ
  • การแนะนำบุคคลที่อยู่กับผู้ป่วยให้ผู้ป่วยคุ้นเคย
  • การจัดการนอนให้เป็นเวลา
  • ช่วงกลางวันต้องมีกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว (เช่น ช่วยทำงานเล็กๆน้อยๆที่สมควรกับสุขภาพ)
  • ถูกแดดอ่อนๆช่วงสายของวัน
  • อย่าให้นอนกลางวัน เพราะจะทำให้กลางคืนไม่นอน
  • และแก้ไขปัญหาทางการได้ยิน และ/หรือทางการมองเห็น เช่นใช้อุปกรณ์ช่วยการได้ยิน (เช่น หูฟังที่ช่วยการได้ยิน) และ/หรือ แว่นตาช่วยการมองเห็น

อาการเพ้อรักษาหายหรือไม่?

อาการเพ้อ เป็นอาการที่รักษาได้หาย แต่ก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะกรณีมีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น การป้องกันการเป็นซ้ำที่ดี คือ การป้องกันไม่ให้มีปัจจัยกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ การนอนไม่หลับ ภาวะขาดออกซิเจน (เช่น ห้องนอนแออัด หรือมีโรคปอด) การใช้ยานอนหลับ และต้องจัดสถานที่/สิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย เป็นต้น

อาการเพ้อต้องรักษาต่อเนื่องหรือไม่?

การรักษาอาการเพ้อไม่จำเป็นต้องต่อเนื่อง ถ้าแก้ไขสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นได้หมด แต่ถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องรักษาต่อเนื่อง (คือรักษาโรคประจำตัวซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอาการเพ้อเป็นซ้ำ) ส่วนการปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ/กิจกรรมนั้น ต้องทำต่อเนื่องตลอดไป เพราะเป็นปัจจัยสำ คัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการเพ้อ

อาการเพ้อส่งผลต่อโรคประจำตัวอย่างไร?

ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ ต้องเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเพ้อ ตรวจพบมีภาวะติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยน่าจะเกิดจากการสำลักอาหาร ทำให้เกิดภาวะปอดบวมขึ้น ระหว่างนอนรักษาในโรงพยาบาล ผู้ ป่วยมีอาการไข้สูงขึ้น มีอาการเพ้อมากขึ้น อาการดังกล่าวจะส่งผลต่อการรักษาโรคติดเชื้อในปอด เพราะผู้ป่วยจะไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัด ไม่ทานยา ไม่ทานอาหาร การควบคุมโรคต่างๆจึงทำได้ยาก จึงส่งผลให้การพยากรณ์โรคทุกโรคที่เป็นอยู่ไม่ดี และยิ่งถ้าผู้ป่วยต้องใช้ยารักษาอาการเพ้อร่วมด้วย โอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากยาต่างๆก็สูงขึ้น เนื่องจากมียาที่ต้องใช้รักษาอาการเพ้อเพิ่มเติมไปอีก จากที่มียาหลายชนิดอยู่แล้ว และยังเพิ่มโอกาสการตีกันของยา (Drug interaction, ปฏิกิริยาระหว่างยาที่ทานและยารักษาอาการเพ้อ) ให้สูงขึ้นไปอีกด้วย

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเพ้อ จึงเป็นสิ่งที่สมควรกว่ามาก

อาการเพ้อเกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อมหรือไม่?

อาการเพ้ออาจพบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม และจากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีอาการเพ้อนั้น มีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมต่อมาได้สูงกว่าผู้ที่ไม่มีอาการเพ้อ

อาการเพ้อต่างจากสมองเสื่อม แต่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และอาจนำมาซึ่งปัญหาทางสุข ภาพอื่นๆได้ (เช่น อุบัติเหตุ การสำลักอาหาร เป็นต้น) ดังนั้นเราต้องให้การดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ให้มีกิจกรรมที่เหมาะสม จัดการด้านการนอนหลับให้ดี มีการออกกำลังกาย และจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุในบ้านเกิดอาการเพ้อ

ควรดูแลตนเองที่บ้านอย่างไร?

กรณีมีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีอาการเพ้อ การดูแล ประกอบด้วย

  • การควบคุมหรือรักษาอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ และโรคประจำตัวให้ดี เช่น มีโรค เบาหวาน ก็ต้องควบคุมให้ดี
  • ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมให้มีระเบียบ และเป็นสภาพที่ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ควรปรับเปลี่ยนสถานที่อยู่บ่อยๆ ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ
  • มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยครบ เช่น แว่นตา เครื่องช่วยการได้ยิน
  • ผู้ดูแลควรเป็นคนเดิม ไม่ควรเปลี่ยนผู้ดูแลบ่อยๆ
  • อาหารก็ควรเป็นอาหารอ่อน อาหารที่ย่อยง่าย (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • ต้องดูแลไม่ให้ผู้ป่วยท้องผูก หรือท้องเสีย เพราะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเพ้อได้
  • ระวังเรื่องการสำลักอาหาร เวลาให้อาหารผู้ป่วยจึงควรใช้เวลา ไม่รีบเร่งและให้ในท่านั่ง หรือ เอนตัวนั่งเสมอ เพื่อป้องกันการสำลัก
  • การดื่มน้ำสะอาด ก็ต้องมีปริมาณที่เพียงพอ ถ้าน้อยเกินไปก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเพ้อได้ง่าย
  • การดูแลเรื่องการขับถ่าย ก็ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ผ้าอ้อม และอุปกรณ์ (เช่น หม้อถ่ายปัสสาวะ) ให้สะอาด และอย่าให้ผู้ป่วยเกิดการแช่อยู่นานๆกับปัสสาวะหรืออุจจาระ เพราะส่งผลต่อสุขภาพกาย (เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) และสุขภาพจิตของผู้ป่วย จะกระตุ้นให้เกิดอาการเพ้อได้

ครอบครัวควรดูแลผู้ป่วยอาการเพ้ออย่างไร?

ครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญมากจะต้องเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย นอกจากจัดการดูแลเบื้องต้นดังกล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง ต้องมีการพูดคุยกับคนในครอบครัวให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน และต้องบอกบทบาทของสมาชิกในครอบครัวว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น หลานเมื่อเข้าบ้านก็ต้องกล่าวทักทาย แนะนำตัวเองกับผู้ป่วยทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีความสับสนว่า มีคนแปลกหน้าเข้าบ้าน และการดูแลผู้ป่วยก็ต้องช่วยกัน เพราะถ้ามอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งดูแล ก็จะเป็นภาระกับผู้นั้นอย่างมากๆ ก่อให้ผู้ดูแลเกิดความเครียด ซึ่งก็จะส่งผลต่อการดูแลผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การพบแพทย์ก่อนนัดมักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เพราะอาการของผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปมาได้ง่าย

ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่างไปจากเดิม เช่น นอนหลับต่อเนื่องหลายวัน ไม่ยอมตื่น หรือไม่นอนเลย ไม่ทานข้าว มีไข้ ปัสสาวะไม่ออก เอะอะโวยวายมาก แบบนี้ก็ควรพบแพทย์ก่อนนัดได้ และต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น จะมีวิธีการแก้ไขเบื้องต้นอย่างไร ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ของแผนกที่สามารถให้คำปรึกษาก่อนนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลได้

ป้องกันอาการเพ้อได้อย่างไร?

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเพ้อ จะเช่นเดียวกับการป้องกันการเกิดอาการเพ้อซ้ำที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “อาการเพ้อรักษาหายหรือไม่” ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ต้องรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด
  • จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมและมีความสะดวกสบาย คุ้นเคยกับผู้สูงอายุ/ผู้มีปัจจัยเสี่ยง ไม่ควรจัดเปลี่ยนสถานที่หรือตกแต่งใหม่จนแตกต่างไปจากเดิม
  • ต้องจัดกิจกรรมให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงได้ทำเป็นประจำ กลางวันไม่ควรให้นอนนาน เพราะกลางคืนจะไม่นอน ซึ่งจะเกิดอาการเพ้อได้ง่าย
  • ควรให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงได้ถูกแดดอ่อนๆทุกวัน ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ และมีการฝึกสมองต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆวัน ตลอดไป

ที่มา : ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

28 เดือนที่แล้ว
บทความสุขภาพ